ท่านพ่อสุ่น ธมฺมสุวณฺโณ
เดินทางลงเรือหนีไปบางกะสร้อย
นิมนต์ท่านพ่อสุ่นเป็นเจ้าอาวาส
เมื่อกลับมาเป็นเจ้าอาวาส
ฝรั่งเศสยิงไก่
ฝรั่งเศสลูบหัว
เสกใบมะขามเป็นต่อเป็นแตน
ฝรั่งเศสขโมยพระพุทธรูปต้มน้ำกิน
ชกฝรั่งเศสสลบ
ฝรั่งเศสเชิญไปรักษา
หมาท่านพ่อกัดกับหมาฝรั่งเศส
ไก่กระดูกดำ
หมาที่วัดไปกัดหมูชาวบ้าน
เป็นผู้มีอาคมทางเมตตายิ่งนัก
วาจาประกาศิต
เลือดรักชาติ
ยิงกระสุนโค้ง
พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จมาวัด
เกี่ยวพันกับหลวงพ่ออี๋
โดนเลื่อยล้อเกวียน
นายอุปถัมภ์ลูกศิษย์เอก
บุญบารมีสูงยิ่ง
เป็นผู้มีอำนาจยิ่งนัก
ลูกศิษย์ท่านพ่อไปชลบุรี
กรมหลวงชุมพรเคยมาหา
ลูกศิษย์เป็นเสือ
พิธีปลุกเสกตะกรุดของท่านพ่อสุ่น
พระตะกั่ว
ท่านพ่อสุ่นมรณะภาพ
   

 

 
 

ปากน้ำแหลมสิงห์ในอดีต :: หน้าฝนที่แหลมสิงห์

 
 
ภาษาของคนปากน้ำแหลมสิงห์ โรงพักและตำรวจสมัยก่อน หน้าฝนที่แหลมสิงห์ อาชีพเลี้ยงเป็ด
อาหารหลักของเป็ด เล้าเป็ด หน้าหนาว เล่นว่าว ประเพณีการทำบุญกลางทุ่ง

ปีนี้ (พ.ศ.๒๕๔๕) ฝนตกหนักกว่าทุกปี ทางภาคเหนือ มีข่าวน้ำท่วมที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ความจริงอำเภอ ทางเหนือเป็นภูเขาเป็นส่วนใหญ่ไม่น่าที่น้ำจะท่วมได้ แต่เป็นการท่วมในลักษณะเอ่อล้นตลิ่งมากว่าเพราะพื้นที่ทางโน้น มักต้องมีลำธารเล็กจากบนภูเขา ไหลลงมาสู่พื้นราบ กาลายเป็นแม่น้ำ น้ำป่า บางส่วนถูกกักไว้บนเขาทำให้มีความรุนแรงมาก ขนาดพังบ้านเรือนได้และพัดคนตกลงในแม่น้ำเสียชีวิตได้

แต่เมื่อนึกถึงหน้าฝนที่แหลมสิงห์แล้ว เราไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมเลย แม้ในบางปีในตัวเมืองจันท์น้ำจะท่วมบ้าง

“ตกแบบฟ้ารั่ว” อาจรวมถึงภาคใต้ด้วยเนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล ความรุนแรงจะมากกว่า แต่ทางเหนือจะตกแบบปกติ นานๆ จะตกแบบ “ฟ้ารั้ว” สักครั้งหนึ่งแต่ก็จะตกได้เกือบตลอดทั้งวันเหมือนกัน

หน้าฝนสมัยเด็ก เป็นฤดูที่ชวนให้สนุกผสมกับเบื่อในบางครั้ง สนุกที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ได้เห็นน้ำท่วม ทุ่งคลองกลอยน้ำสีขาวอมฟ้าสะท้อนกับเขาสระบาปมองแล้วสวยงาม ที่หน้าบ้านจะมีแอ่งน้ำที่ลุ่มขนาดใหญ่ ซึ่งไล่มา ตั้งแต่ติด “คลองยายดำ” ที่ติดกับทะเล เรื่อยมาถึงบริเวณ “หลังบ้านย่าหวอม” เรื่อยมาถึงหน้าบ้านและเลยไปถึงบ้านท่าแหวน ไม่แน่ใจว่าทำนาได้ถึงไหนเพราะเลยไปก็ต้องน้ำเค็ม

ไม่อาจคาดเดาได้ว่าพื้นที่สมบูรณ์นี้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หรือ เกิดจากการร่วมกระทำขึ้นของคนในรุ่นเก่า

ในหน้าฝน ฝนจะตกลงมาขังไว้ให้ทำนาได้อย่างบริบูรณ์เสมอ บางปีมากเกินไปถึงกับท่วมมาที่ใต้ถุนบ้านด้วยซ้ำไปทำเราพวกเราต้องลำบากในการเคลื่อนย้ายเป็ดไปไว้ในที่เนิน เป็นความลำบากอยู่เหมือนกัน แต่ก็ท่วมทำความเดือดร้อนได้ไม่นานเนื่องจากน้ำจะระบายลงทะเลได้

เรื่องสนุกวัยเด็กส่วนหนึ่งคือ การได้จับปลามากัดกัน ส่วนใหญ่จะเป็นปลาหมอตัวเล็กๆ ทุกปีน้ำจะท่วมใต้ถุนโรงเรียนวันครู ปลาหมอจะมีอยู่มาก พวกเราจะจังใส่ขวด เลือกตัวเล็กๆ ที่พอเหมาะ นำมากัดกัน จนหางเอย ครีบเอย ขาดก็จะปล่อยไปและหาจับตัวใหม่

ตอนเดินไปโรงเรียนสมัยก่อนจะมีเส้นทางข้างบ้าน “ตาเริญ” ที่ข้างรั้วมีทางเดินสาธารณะ เป็นทางเดินเล็กๆพอที่จักรยานจะผ่านได้ด้วย พอพ้นที่บ้านตาเริญก็จะเป็นทางคันนา ตรงนี้จะมีทางระบายน้ำ มักจะมีปลามาเล่นน้ำอยู่บ่อยๆ บางครั้งเห็นปลาช่อนตัวโตแอบเลียบๆ เคียงๆ ว่ายแล่นโต้น้ำอยู่แถวนี้ ทางซ้ายมือจะเป็นสวนของตาเริญ ที่มักปลูก พืชไร่อยู่เสมอ เช่น ข้าวโพดตาเริญ เป็นคนที่ขยันแบบคนสมัยเก่า ที่ไม่เคยปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ ทำโน่นทำนี่อยู่เสมอ และบริเวณนี้จะเป็นผูกควายที่เลี้ยงไว้ ๒-๓ ตัว เดินพ้นนาไปก็จะผ่านทุ่งแคบๆอยู่ทางซ้าย ทุ่งแถวหน้าร้อนจะมีแย้ให้ขุดกัน และเป็นที่เล่นฟุตบอลของเด็กๆได้ เดินตงไปผ่านบ้านพักครู ก็จะเข้าบริเวณโรงเรียน

ปัญหาใหญ่ของชุมชนปากน้ำแหลมสิงห์ในหน้าฝน น่าจะเป็นเรื่องของปัญหาปลาเป็ด มากกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะเมื่อถึงหน้าฝนช่วงที่มีมรสุม มีพายุ เรือมักไม่ออกหาปลา ทำให้ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่ในสมัยก่อนมีอาชีพเลี้ยงเป็ด ไม่มีปลาเห็นให้เป็ดกิน

อาชีพเลียงเป็ดสมัยก่อนเลี้ยงกันแทบทุกบ้าน คาดว่าประมาณ ปี พ.ศ.๒๕๐๐ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย ตอนที่เริ่มโตขึ้นมาก็จำได้ว่าทางบ้านเลี้ยงเป็ดและผูกพันกับอาชีพนี้แล้วการเริ่มต้นอาชีพเลี้ยงเป็ด คนเก่าๆ บอกว่าอาจเอาแบบอย่างมาจากชาวจีนที่เลี้ยงแถวตำบลบางกะไชย ประกอบกับใกล้วัตถุดิบเรื่องอาหรา คือ ปลาเป็ด
ทำให้เลี้ยงกันมาก มักเลี้ยงกันที่ใต้ถุนบ้าน บ้านละ ๓๐๐ ตัวเป็นอย่างน้อย บางบ้านเลี้ยงเป็นหมื่นตัว ที่บ้านเลี้ยงมากสุดอาจแค่ประมาณ ๕,๐๐๐ ตัว

ที่เรียกว่า “ปลาเป็ด” คือ ปลาสำหรับเป็ดกิน ซึ่งต้องเป็นปลาตัวไม่โตนัก หรือหากโตหน่อยเรา ก็เอามาสับให้เล็กลงให้เป็นกินได้ ส่วนใหญ่เป็นปลาที่คละกันมีหลากหลายชนิด ปลาเป็ด ต้องซื้อจากท่าเรือเสี่ยฮวด ลิ้นทอง นำมาหมักน้ำแข็งไว้เพื่อใช้กินในวันต่อไป คือ เตรียมล่วงหน้าไว้ ๑ วัน แต่ไม่เกิน ๒ วัน เพราะปลาจะเริ่มเน่า แต่พอถึงหน้าฝนที่มีพายุ ปลาเป็นจะหายากคนเลี้ยงเป็ดทุกคนจะหน้าเคร่งเครียดกันในช่วงนี้เพราะไม่แน่ว่าเป็ดอาจขาดอาหาร นั่นหมายถึงอาจต้องขาดทุนเพราะเป็ดไข่น้อยลง

พ่อผมเองก็จะเคร่งเครียดในช่วงนี้ มักติดตามข่าสารจากชาวบ้านที่ไปรอที่ท่าเรือ และพี่ต้องไปเฝ้าที่ท่าเรือด้วยเหมือนกัน บางคราวอยู่จน ๓ ถึง ๔ ทุ่มถึงจะกลับบ้าน บางครั้งได้ปลามาแต่ก็น้อยกว่าปกติและปลามักเป็นปลาที่ไม่สด ได้มาก็เกือบจะเน่าอยู่แล้ว แต่ก็แก้ขัดได้ในช่วงนั้น

ยานพาหนะสำหรับใช้ขนปลาเป็ด ระยะแรก คือ จักรยาน เป็นจักรยานรุ่นเก่าที่แข็งแรง จำได้ว่ายี่ห้อเฮอคิวลิส สีเขียวเข้มแข็งแรง มีไฟหน้า เบาะหนังบึกบึนทนทาน แตะหรืออานด้ายหลังใหญ่ ส่วนความเร็วไม่ต้องพูดถึง ขี่ได้เร็ว อย่างน่าตกใจ เพราะจำได้ว่าคราวหนึ่ง เมฆครึ้มเต็มฟ้า พายุแรง ฝนกำลังจะมาถึง ผมและพี่ชาย คือ มิตร เอาจักรยานไปเที่ยวกัน แถวบ้านลุงเอี้ยว “กำนันบุญมี ม้าแก้ว” เห็นฝนกำลังจะตกหนัก จึงต้องรับกลับบ้านเพื่อต้อนเป็ดเข้าเล้า เพราะหากเป็ดถูกฝนจะเล่นน้ำฝน และไม่ยอมกินอาหาร ส่งผลให้ไข่ลดลง วันนั้นจำได้ว่ารู้สึกหวาดเสียวมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะซ้อนท้ายจักยาน “เฮอคิวลิส” คันนี้โดยมิตรเป็นคนขี่ และขี่ด้วยความเร็ว ฝ่าลมพายุมุ่งหน้ากลับบ้าน นั่งซ้อนไป ก็คิดว่าว่าหากเกิดสุนัขตัดหน้าหรือรถล้มไม่ว่าด้วยสาเหตุใดคงกลิ้งมารู้หัวก้อยและคงบาดเจ็บไม่น้อย เหตุการณ์นั้น จึงได้เป็นความเร็วของ “เฮอคิวลิส” ของพ่อคันนี้

สมัยนั้นการบรรทุก เห็นแล้วก็น่าตกใจ เพราะไม่น่าจะบรรทุกกันได้ คือ เข่งปลาเป็ดใหญ่บรรทุกอานด้านหลังซ้อนกัน ๒ เข่ง ต่อมาก็มีการต่อท้ายอานให้ยาวขึ้นและบรรทุกเพิ่มได้อีก แต่กว่าจะออกตัวและกระโดขึ้นรถได้ก็เหนื่อยกันพอแรงเหมือนกัน

ยุคต่อมา คือ ใช้ “รถเข็น” ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเริ่ม มีการต่อรถเข็นจำหน่าย และซื้อใช้กันแทบทุกบ้าน ใช้ประโยชน์ด้านการบรรทุกได้มากกว่ารถจักรยาน เพราะเนื้อที่กว้างกว่า แต่ความเร็วด้อยกว่ามาก เพราะต้องเดินเข็น ที่เหนื่อยยากกว่าปกติเนื่องจากสมัยนั้นถนนแถวกลาง จำได้ว่าจากวัดปากน้ำมาถึงบ้าน เป็นดินลูกรังทั้งนั้น เมื่อฝนตกใส่ ก็เฉอะแฉะ เป็นโคลนเป็นอุปสรรคต่อการดันรถเข็นมาก หน้าฝนพ่อมักให้ลูกไปดักรับช่วงเข็นต่อมาถึงบ้าน เพราะสู้โคลนลูกรังไม่ไหว มาถึงบ้านก็เหงื่อท่วมตัวกันทั้งนั้น

หน้าฝนบ้านเรา ทำให้ได้รับรู้ถึงความสุขเมื่อฝนตกหนัก หนักแบบไม่ลืมหูลืมตาตลอด ๒ หรือ ๓ วัน บ่ายถึงเย็นในวันที่ฝนตกหนักเป็นช่วงที่นอนหลัดได้อย่างมีความสุข อากาศเย็นยะเยือก นอนหลับฟังเสียงฝน คุดคู้อยู่มุมที่นอนของแม่อย่างมีความสุข

แต่ความทุกข์อีกประการหนึ่งในหน้าฝน คือ เมื่อใช้เท้าย่ำน้ำครำอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะน้ำครำที่เล้าเป็ด เท้าแทบจะไม่มีโอกาสแห้ง พวกเรามักเป็นโรคน้ำกัดเท้า กัดแบบกัดจริงกัดจัง คือ กัดเข้าไปในเนื้อสดๆ ตามร่องนิ้วเท้า อาการคัน และตามมาด้วยอาการปวดแสบปวดร้อน แม้ใส่ยาก็ไม่ค่อยหายเพราะเราต้องย่ำน้ำสกปรกอยู่ทุกวัน วิธีรักษาแบบพื้นบ้านที่นิยมกัน คือ การใช้หมากดิบลนไฟตะเกียงให้เยิ้มเป็นยา ทาที่แผลที่ถูกน้ำกัด ทำ
ให้อาการทุเลาลง หลังทานข้าวเย็น เราจึงมักล้อมวงรอบตะเกียงน้ำมันก๊าด นำหมากมาลนไฟรักษาโรคน้ำกัดเท้ากันเพื่อเตรียมตัวที่จะไปลุยน้ำกันในวันรุ่งขึ้น

หลังจากฝนตกหนักสัก ๒ อาทิตย์ ผักบุ้งก็จะทอดยอดอ่อนเต็มหนอง อาชีพเก็บผักบุ้งมากำ นำไปขายที่ตลาด เมืองจันท์เป็นอาชีพที่เพิ่มรายได้ให้ครอบครัวได้เป็นอย่างดี แม่มักจะไปเด็ดเก็บผักบุ้งกองเตรียมไว้ ลูกๆ นำเข่งไปช่วยขนมากองไว้กลางบ้านช่วยกันเด็ดใบที่แก่ออก และกำรัดด้วยหนังยาง ผมมักช่วยครอบครัวเด็ดใบส่วนเกินและกำถึงประมาณ ๓ ทุ่ม ก็ถือโอกาสเข้านอนก่อนแล้ว เรียกว่าเอาตัวรอดไว้ก่อน เพราะต้องตื่นเช้าไปโรงเรียน แต่ก็รับรู้ว่าแม่กว่าจะเสร็จ ภารกิจก็เกือบ ๕ ทุ่มและตี ๓ ต้องตื่นไปขายของในตัวเมือง

ช่วงฝนตกใหม่นี้ อาหารพิเศษสำหรับพวกเรา คือ “กบ” กบเมื่อได้ฝนจะออกมาหาคู่ จึงต้องตกเป็นเหยื่อของมนุษย์ส่วนหนึ่งช่วงกลางคืนตั้งแต่หัวค่ำ หลังอาหารเย็น ตารมทุ่งนาทั่วไป จะมีแสงไฟจากไฟฉายขนาด ๖ ท่อน ส่องหากบกัน วิธีการเดิมๆก็คือ ส่องไฟฉายเมื่อไปพบตาของกล ก็จะฉายไว้และเดินเข้าไปหา หาจังหวะคว้ามือ นำมาใส่ข้อง ต่อมา บางคนใช้แหลนแทง เมื่อได้ระยะที่เหมาะสม รุ่งขึ้นเช้า การทักทายอย่างแรกของชาวบ้าน คือ เมื่อคืนออกไปหากลหรือเปล่า ได้กี่ตัว ขอดูหน่อย โอ้โฮตัวใหญ่จัง ที่ตลาดก็จะมีกลมาวางขายกันมีผู้มาซื้อไปทำอาหาร

อาหารหลักที่ใช้กลเป็นองค์ประกอบที่นิยมกัน คือ ยำกบ อาจนับมะม่วงหรือมะละกอเป็นหลัก และปรุงด้วยมะพร้าวคั่ว ย่ามน เนินหาด เป็นผู้หนึ่งที่ชำนาญการยำกบเป็นพิเศษ นอก เหนือจากยำไข่แมงดาทะเลแล้ว เนื่องจากกบเนื้อมาก ยำส่วนใหญ่ก็จะมีเนื้อกบเป็นหลัด ซึ่งรสชาติอร่อยมาก สมัยนั้นคงหากินได้ยาก และรสชาติคงเปลี่ยนไปเพราะคนรุ่นเก่าๆ ก็ล้มหายตายจากกันไปมากแล้ว

ผมไม่ค่อยมีความสามารถเรื่องการส่องกบ แต่ชอบที่จะไปสัมผัสบรรยากาศของการส่องกบ มักขอไปด้วยกับพี่ชาย (มิตร) ไป ๒-๓ ครั้งก็เบื่อเหมือนกัน เพราะไม่ได้มีส่วนร่วมเลย ต้องเดินบุกโคลนในนาแถวที่บางนาไถแล้ว บางนาก็ยังไม่ได้ไถบางนามีน้ำตั้งครึ่งค่อนหน้าแข้ง คราวหนึ่งจำได้แม่นว่า ฝนตก ความจริงตอนออกจากบ้านฝนก็ตกอยู่แต่ไม่หนัก ก็ต้องใช้ผ้ายางกันฝนคลุมกันไป แต่พอถึงกลางนาแถว ฝนเกิดตกหนัก ฟ้าแลบฟ้าร้องมีครบหมด เมื่ออยู่กลางแจ้ง

ช่างน่ากลัวเสียจริงมองไปบนฟ้ามองเห็นสายฟ้าแลบจากฝั่งนี้เลื้อยลามกันไปถึงฝั่งโน้นของฟ้า มองเห็นเมฆทมึนเต็มฟ้า เสียงฟ้าร้องสนั่นหวั่นไหวคล้ายกับจะกลั่นแกล้งพวกที่ออกมาสร้างบาปจับ ยิ่งเคยอ่านหนังสือเรียนว่าเวลาฝนตกฟ้าร้อง ไม่ควรอยู่ ๓ แห่ง คือ กลางแจ้ง ใต้ต้นไม้และใต้เสาไฟแรงสูง ยิ่งรู้สึกกลัวจับจิตจับใจ “มิตร” พี่ชาย ก็สั่งว่า “นั่งอยู่ตรงนี้ก่อน จะไปดูกบด้านโน้น” สั่งให้ผมนั่งอยู่ที่หัวคันนา ตัวเองถือไฟฉายเดินวุดๆ ไปหากบ ไฟฉายติดตัวก็ไม่มีจึงต้องจมอยู่ในความมืด ครู่ใหญ่ๆ มิตรก็วิ่งกลับมาพร้อมกับที่ฝนตกหนัก โชคดีที่หยุดได้ทันไม่เช่นนั้นคงชนเอาผมเข้าเต็มแรง เพราะมืดมาก คืนนั้นจำไม่ได้ว่าได้กบหรือไม่ อาจจะได้บ้าง ๒-๓ ตัว

เมื่อฝนตกพอที่จะมีน้ำขังในนาระยะหนึ่ง ปลาที่อาศัยตามนา ตามหนอง ก็เมเติบโตพอที่จะเป็นอาหารของคนได้แล้วหลังจากอาหารเช้าแล้ว บางบ้านก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นชาวประมงน้ำจืด ถือเบ็ด สะพายข้องหาที่ตกปลากัน ส่วนใหญ่ ก็เป็นนาข้าวทั่วไป ซึ่งขณะนั้นข้าวก็โตพ้นน้ำแล้ว อาหารที่เป็นเหยื่อ ส่วนใหญ่ใช้กุ้งที่เหลือมาจากปลาเป็ด เหยื่ออีก ประเภทหนึ่งก็ใช้ไส้เดือนก็หาได้ไม่ยาก ขุดดินไปที่ไหนก็มีไส้เดือนทั้งนั้น ไส้เดือนมักใช้ตกปลาดุกเป็นหลัก ส่วนเหยื่อกุ้งใช้ตกปลาหมอ คนหนึ่งที่ตกปลาดุกเก่ง คือ อาละม่อม วงศ์อัศวนฤมล ที่
หลังบ้านผมเป็นนาข้าว ส่วนใหญ่จะตกได้ปลาหมอ ตัวก็ไม่ใหญ่โตขนาด ๓ ถึง ๔ นิ้วมือ พอตกนานเข้า ๆ นานเข้าก็เบื่อเพราะตัวไม่ใหญ่ นานๆ จะได้ปลาหมอตัวโตสีดำ วิดเบ็ดขึ้นมาก็จะชื่นอกชื่นใจกันสักทีเพราะนั่นอยู่บ่อยๆ หมายถึงเป็นปลาหมอค้างปีที่หลงมากินเหยื่อ ส่วนการตกของอาละม่อมที่ว่าเก่ง เพราะตกที่นาหลังบ้านของผม มักจะได้ปลาดุกอยู่บ่อยๆ เป็นเรื่องแปลกและน่าอิจฉาเป็นที่สุด เพราะปลาดุกจะได้ยาก และอร่อยกว่าปลาหมอมาก ยังเห็นภาพอาละม่อมยิ้มอย่างดีใจที่ปลาดุกติดเบ็ดขึ้นจากน้ำ

การตกปลา จะกระทำกันในตอนกลางวัน หลังนั้นช่วงเย็นก็จะกลับนำไปทำอาหาร ปลาหมอก็มักอย่าง หรือแกงส้มมะละกอ อร่อยมาก ส่วนปลาดุกนอกจากย่างจิ้มน้ำปลากพริกแล้วก็นำไปฉู่ฉี่ เป็นอาหารชั้นยอดเลยทีเดียว ที่ไม่ใช่ว่า จะได้ลิ้มรสกันบ่อยๆ

พ้นระยะนั้นมา จนเมื่อข้าวเริ่มออกรวง ปลาช่อนที่ไม่ชอบกินเบ็ดในตอนกลางวัน จะเติบโตพอที่จะเป็นอาหารของมนุษย์ชาวนาได้ ชาวนาผู้ชายก็มักจะเหลาคันธง ซื้อเบ็ดมาผูกกับเส้นเอ็น เหลาโคนให้แหลม เป็น “คันธง” ใครขยันมาก ก็ทำคันธงมาก ใครขยันน้อยก็ทำน้อย และมักจะสืบเสาะเป็นที่รู้กันว่า บ้านโน้นเตรียมคันธงไว้ ๒๐๐ อัน บ้านนี้ ๑๐๐ อัน บ้านนี้ ๓๐ อัน ที่เตรียมไว้มากมักทำเป็นอาชีพ คือ ได้มาแล้ว ขายเป็นเงินเข้าบ้านได้ บ้านที่ทำน้อยมักหามาเพื่อเป็นอาหาร เท่านั้น

การเตรียมเหยื่อ ส่วนหนึ่งเป็นไส้เดือน อีกส่วนหนึ่งเป็นปลาหมอตัวเล็กหรือกลตัวเล็ก ดูเหมือนกบตัวเล็กหรือ ลูกกบจะเป็นอาหารที่ปลาช่อนชอบมากที่สุด แต่ก็ขึ้นอยู่กับความทนทานของเหยื่อด้วย เหยื่อของปลายช่อนมักต้อง เคลื่อนไหว หากนิ่งปลาช่อนมักไม่กินเหยื่อ เหยื่อกบมักใช้เท้าเต้นในน้ำอยู่เสมอเมื่อถูกเกี่ยวลำตัวเข้ากับตัวเบ็ด เมื่อเตรียม เหยื่อแล้ว ตอนใกล้ค่ำก็จะนำคันธงไปปักตามริมคันนาเกี่ยวเหยื่อให้ลงพื้นน้ำสักครึ่งนิ้ว โดยต้องเปิดพื้นที่โดยรอบให้ปลาช่อน เห็นเหยื่อได้ขัดเจนแต่ละคันธงก็เว้นระยะห่างกันตามสมควร คงประมาณสัก ๑๐ เมตร หลังจากปักคันธงกลับบ้านไป อาบน้ำกินข้าวแล้ว ก็จะต้องมาเดิน “กู้ปลา” คือ นำไฟฉายมาดูว่าปลาช่อนกินเบ็ดหรือไม่ หากฉายไปแล้วคันธงลู่ติดน้ำ ก็ดีใจได้เพราะแสดงว่าปลาช่อนกินเบ็ดค่อยๆ ดึงใส่ข้องที่เตรียมไป มีบางครั้งเหมือนกันที่เมื่อไปถึงปลาช่อนตัวใหญ่สะบัดหลุดหนีไปได้ เสียดายอย่างสุดแสนจนพูดไม่ออก หรือหากเหยื่อหมด ซึ่งอาจถูกปลากเล็กปลาน้อยตอดกินไปก็ต้องเกี่ยวเหยื่อชิ้นใหม่ การไปกู้ปลา มักจะทำกันประมาณ ๔ ครั้งจนถึงเช้า อาจจะ ๒ ทุ่ม ๔ ทุ่ม ตี ๑ และเลยมาตอน ตี ๕ เลยทำการเก็บคันธงมาไว้สำหรับปักในค่ำต่อไป

เรื่องกรรมสิทธิ์นาใคร นาใคร มักไม่ได้มีข้อห้าม กล่าวคือ ใครใคร่หาปลาก็หาหากไม่ทำให้ต้นข้าวในสาเสียหาย มีบางครั้งเหมือนกันที่ไปธงปลาในนาเดียวกัน ก็คงมีการพูดคุยตกลงกันเองเพราะคุ้นเคยกันทั้งนั้น ตอนกู้ปลาก็ไม่ว่ากัน ซึ่งอาจจะถูกลักปลาที่ติดเบ็ดไปบ้าง หากไม่เห็นต่อหน้าก็ไม่อาจว่ากันได้ อาจจะมีตำหนิกันลับหลังบ้างเพื่อให้ชาวบ้านทั่วไป รับรู้นิสัยใจคอ แต่ก็ไม่เคยถึงกับต้องวิวาทหรือมีเรื่องบาดหมางกัน

หน้าฝนทุกครั้งทำให้นึกย้อนถึงวัยเด็กที่บ้านเกิด หน้าฝนยุคใหม่คงเปลี่ยนแปลงไป คงไม่ได้กินผักบุ้งก้านอวบแกงกะทิใส่กุ้ง คงไม่ได้เห็นภาพน้ำสีขาวเจิ่งนองท้องนาเต็ม “นาแถว” เห็นควายลากคันไถไถนากันทั่วไป สักระยะหนึ่ง “นาแถว” ก็เปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนของต้นข้าวและมีการเติมสีเขียวให้เข้มขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป จนเปลี่ยนเป็นทอง ของรวงข้าวเหลืองอร่าม ซึ่งเป็นช่วงยามที่มีลมหนาวพัดมาเยือน ความสนุกสนานกับการได้นั่ง “เลื่อน” ที่ควายลาก โดยบรรทุกข้าวที่เกี่ยวขึ้นจากนาตื่นเต้นเมื่อยามเลื่อนถึงจังหวะขึ้นลงคันนา หากไม่จับให้มั่นก็แทบกลิ้งตก

เด็กรุ่นใหม่ ไม่มีโอกาสได้เห็นแสงไฟฉายวูบวาบของพวกหากบ ไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสยำใส่ใบมะกอก ไม่มีโอกาสได้ตกหรือธงปลา น่าเสียดายมาก

 

 
วัดปากน้ำแหลมสิงห์ ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
www.watpaknamlaemsing.org Copyright © 2011